วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

เตรียมตัวก่อนเดินทาง

คู่มือการเตรียมพร้อมในการเดินทางท่องเที่ยวเมื่อเดินทางท่องเที่ยวท่านจะได้รับความคุ้มครองหากใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่
จดทะเบียนกับสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(ททท.)อย่างถูกต้อง

เมื่อเดินทางไปเที่ยวท่านควรจะ
•เลือกใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามประเภท
  ที่ได้รัยอนุญาต(ตรวจดูเลขที่ใบอนุญาต  วัน-เดือน-ปี)  ที่ออกใบอนุญาต/ใบหมดอายุและ
  เลขทะเบียนลงนามถูกต้อง
•ตรวจสอบประวัติของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทุกครั้ง  จากสำนักงานทะเบียนฯ ททท.
•พิจารณารายการนำเที่ยว  ให้ถูกต้องตรงตามความต้องการท่องเที่ยวในครั้งนั้น  และเมื่อ
 ตกลงใจซื้อรายการนำเที่ยวจากบริษัทดังกล่าวให้เก็บเอกสารรายการนำเที่ยว ใบเสร็จรับเงิน
 ตลอดจนเอกสารต่างๆ  ไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบภายหลัง
•หากมีการเปลี่ยนแปลงรายการนำเที่ยว  กฎหมายระบุให้ต้องได้รับความยินยอมจากท่าน
 ก่อนเสมอ  หรือกรณีผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะจัดรายการทดแทนให้ก็ต้องจัดให้เท่าเทียม
 หรือใกล้เคียงกับรายการที่ได้ตกลงกันไว้
•ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องทำประกันภัยอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยวทุกคนด้วย

ข้อปฏิบัติในการเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ
การเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำในฤดูที่เหมาะสมควรเป็นฤดูหนาวและฤดูร้อนเพราะในฤดูฝนการ
เดินทางไม่สะดวก  มีคลื่นลมเป็นอันตรายในการล่องเรือ

ข้อควรปฏิบัติ
1.ตรวจสอบสภาพอากาศ  คลื่นลมล่วงหน้าก่อนออกเดินทาง  บนเส้นทางควรตรวจ
   สอบเวลาน้ำขึ้น-ลง ล่วงหน้าเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการเดินเรือ
2.เลือกขนาด/ประเภทของเรือให้เหมาะสมกับจำนวนที่เดินทาง  ไม่บรรทุกน้ำหนักเกินขนาดเรือ
3.สวมเสื้อผ้าที่กระชับ  รัดกุม  น้ำหนักเบา แห้งง่าย  สวมรองเท้าแตะที่ถอดง่าย เตรียมหมวก
   กันแดดและเสื้อแจ็กเก็ตผ้ากันลม
4.เตรียมถุงพลาสติก  ใส่กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์ต่างๆ ป้องกันการเปียกน้ำ
5.สวมเสื้อชูชีพ หรือเตรียมห่วงยางป้องกันอันตรายเมื่อพลัดตกลงน้ำหรือเรือล่ม
6.หากนำอาหารไปรับประทานในเรือ  เลือกอาหารที่สะดวกในการพกพา  และนำขยะมาทิ้งที่ฝั่ง
7.ถ้าพลัดตกจากเรือให้รีบว่ายน้ำเข้าหาเรือหรือว่ายเข้าฝั่ง
8.ไม่ควรล่องเรือขณะที่ฝนตกหรือมีพายุ
9.ไม่หยอกล้อเล่นกัน  หรือเดินไปมาขณะล่องเรืออาจทำให้เรือล่มได้
10.ไม่ล่องเรือในเวลากลางคืน  เพราะมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน  อาจเกิดอันตรายได้

เตรียมตัวเที่ยวน้ำตก


1.ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำตกที่จะเดินทางไปเที่ยวในทุกๆด้าน  เช่น  รายละเอียดเกี่ยวกับการ
   เดินทาง สภาพเส้นทางและการเข้าถึงตัวน้ำตก  การขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ในกรณีอุทยาน
   แห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าล่วงหน้าทุกครั้งก่อนออกเดินทาง  เพื่อที่จะจัดวางแผน
   การเดินทางและจัดเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมก่อนการเดินทาง
2.หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพพื้นที่โดยทั่วไปรวมถึงที่พักและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงเพื่อ
   จะได้กำหนดการเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น
3.ติดต่อสอบถามข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับพื้นที่ที่เราจะเดินทางไป  ไม่ว่าจะเป็นสภาพถนนล่าสุด
   สภาพอากาศ หรือความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตามฤดูกาลที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิด
   ปัญหาที่ยุ่งยากตามมา
4.เตรียมยานพาหนะให้พร้อมหากเป็นรถที่ขับไปเองต้องตรวจสอบสภาพเส้นทางในช่วงนั้น
   เตรียมความพร้อมของพาหนะให้สมบูรณ์หากเป็นรถที่เช่าเหมาไปต้องบอกข้อมูลกับคนขับ
   ให้ทราบเพื่อการเตรียมตัว
5.รองเท้าที่เตรียมไปควรเหมาะกับสภาพของน้ำตก หากเป็นน้ำตกที่รถเข้าถึง ไม่ต้องเดินมาก
   อาจเป็นรองเท้าแตะแบบรัดส้นธรรมดาก็ได้  แต่หากต้องเดินมากในเส้นทางที่ค่อนข้างสมบุก
   สมบันควรใช้ผ้าใบที่สวมสบายๆพร้อมลุยและเปียกน้ำ
6.เตรียมอุปกรณ์แค้มป์  ตั้งแต่เสื้อผ้าเดินป่า  ชุดนอน อุปกรณ์แค้มป์และเสบียงอาหารให้พร้อม
7.บำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอทำให้การเดินป่าท่องธรรมชาติมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ข้อควรปฏิบัติ
1.เนื่องจากช่วงของการเดินทางเที่ยวน้ำตกมักอยู่ในช่วงฤดูฝนก่อนออกเดินทางจึงควรหาข้อมูล
   เรื่องน้ำป่าและระดับน้ำของสถานทีที่เราจะไป  ขณะเที่ยวชมน้ำตกควรสังเกตว่าธารน้ำมีน้ำเต็ม
   เปี่ยมและไหลแรงขึ้นการเดินข้ามหรือเล่นน้ำควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะน้ำป่าอาจไหล
   หลากมาอย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่รู้ตัว
2.การเดินป่าเลาะริมลำห้วยหากจำเป็นต้องตัดข้ามไปมาบ่อยครั้งควรยอมเปียกลงลุยน้ำแทนการ
   กระโดดข้ามบนก้อนหินเพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุจนทำให้บาดเจ็บ
3.ไม่ประมาทหรือหยอกล้อกันบริเวณที่อันตราย เช่น ตามริมผา  น้ำตก  บนโขดหินกลางลำห้วย
   ในช่วงที่น้ำลึกไหลเชี่ยว
4.น้ำตกบางแห่งมีคำเตือนให้ห้ามเล่นน้ำในบางบริเวณ เช่น  ตามแอ่งน้ำวน  น้ำลึก  หรือที่ลาดชัน
   ก่อนถึงผาน้ำตก ควรปฏิบัติตามเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดขึ้นได้
5.ควรระมัดระวังอย่าให้การเที่ยวน้ำตกของท่านเป็นการรบกวน หรือทำลายธรรมชาติ
6.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในการเที่ยวน้ำตก
7.ควรเคารพสิทธิ์ผู้อื่นที่เดินทางเข้าไปสัมผัสธรรมชาติร่วมกัน ด้วยการไม่ส่งเสียงรบกวนหรือกระทำ
   การอันละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและธรรมชาติอันเป็นการขัดต่อกฎหมาย
8.ไม่ทิ้งขยะในทุกพื้นที่ และช่วยกันรักษาความสะอาด

เตรียมตัวและขอควรปฎิบัติในการเที่ยว

•เตรียมครีมกันแดด  ครีมทาผิว  ชูชีพ
•ใส่เสื้อผ้าที่กระชับ  น้ำหนักเบา  ไม่อุ้มน้ำ
•เล่นน้ำบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล  หรือน้ำตื้นที่น้ำตก
•มีผู้ร่วมเล่นน้ำ  หรือบริเวณใกล้เคียงเผื่อเวลาฉุกเฉิน
•เล่นน้ำช่วงเช้า  หรือบ่ายที่อากาศไม่ร้อนจัด
•หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำที่มีแมงกะพรุน
ไม่ควร
•ลงเล่นน้ำขณะมีฝนตก  คลื่นลมแรง
•ทิ้งขยะมูลฝอยลงในน้ำ  บริเวณทางเดิน
•ออกไปเล่นน้ำไกลชายฝั่ง/บริเวณน้ำลึก
•ลงเล่นน้ำคนเดียวหรือเวลากลางคืน
•เก็บ หัก เด็ด ใบไม้ดอกไม้
•ปีนป่าย ก้อนหิน โขดหิน  หน้าผาบริเวณน้ำตก
•ขีดเขียนข้อความบนก้อนหิน

ดำน้ำ  ดูปะการัง


•ฝึกหัดอุปกรณ์ดำน้ำให้ชำนาญ
•เตรียมร่างกายให้พร้อม  ไม่อดนอน ไม่ดื่มสุรา
•เตรียมเช่าอุปกรณ์ดำน้ำให้พร้อม
•เตรียมชุดว่ายน้ำ  ครีมทาผิว
•ตรวจสอบอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนใช้งาน
•สวมชุดชูชีพให้พร้อมทุกครั้งก่อนลงน้ำ
•ผูกเรือไว้กับทุ่น  จอดเรือในที่จัดไว้
•ชมปะการังในเฉพาะจุดที่ผู้นำทางกำหนดให้เท่านั้น
•ช่วยเก็บขยะบนท้องทะเลขึ้นมาทิ้งบนฝั่ง
ไม่ควร
•ดำน้ำช่วงที่มีแสงสว่างน้อยหรือช่วงน้ำลงจัด
•ลงดำน้ำ หากร่างกายไม่แข็งแรงพอ มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
•ทิ้งผู้ว่ายน้ำที่ไม่ชำนาญไว้ลำพัง
•ว่ายน้ำออกห่างทุ่นจอดเรือมากเกินไป
•จอดเรือบริเวณแนวปะการัง
•สัมผัสหรือแตะต้องปะการัง
•ทิ้งขยะลงบนชายฝั่งหรือทะเล  เตะตะกอนทรายขึ้นมาทับถมปะการัง
•จับหรือทำลายสัตว์น้ำทุกชนิด
•เก็บปะการัง  กัลปังหา  เปลือกหอย
•ซื้อของที่ระลึกที่ทำจากปะการัง กัลปังหา  ฯลฯ


กิจกรรมล่องแก่ง

การล่องแก่งเป็นกิจกรรมเชิงผจญภัยแบบหนึ่งที่ให้ความตื่นเต้นสนุกสนานอย่างมาก 
รวมทั้งยังมีสภาพธรรมชาติ อันร่มรื่นสวยงามให้ชมตลอดสองฝั่งลำน้ำ  การล่องแก่ง
นับว่าปลอดภัยพอสมควร  หากมีการเตรียมตัวและปฏิบัติตัวโดยยึดหลักความไม่ประมาท
อย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจล่องแก่ง ควรว่ายน้ำเป็น หากเกิดอุบัติเหตุจะช่วยเหลือตัวเองได้

ล่องแก่งที่ไหน

มีสถานที่ล่องแก่งได้อย่างสนุกสนานหลายที่ เช่น  อุทยานแห่งชาติแม่จริม  อุทยานแห่ง
ชาติออบหลวง  อุ้มผาง แก่งหินเพลิง ฯลฯ แต่ละแห่งมีเกาะแก่งและระดับความยากง่าย
ต่างกัน  และมีฤดูการล่องแก่งต่างกันด้วย  บางแห่งควรล่องที่น้ำมาก บางแห่งควรล่องใน
ช่วงน้ำน้อย  ดังนั้นควรสอบถามหรือศึกษาข้อมูลจากอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งก่อน

ข้อพึงปฏิบัติในการล่องแก่ง
•สวมหมวกนิรภัยและเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเรือ
•ตรวจความเรียบร้อยของอุปกรณ์ทุกชิ้นก่อนลงเรือ
•สวมเสื้อผ้าและรองเท้าแบบสบายๆ  ไม่หนาและรัดจนเดกินไป
•ควรมีอุปกรณ์ยังชีพในป่า
•ช่วงล่องก่งอย่ายื่นอวัยวะใดออกนอกลำเรือ  บังคับให้เท้านำหน้า  ให้น้ำพัดไปจนพ้น
 แก่งแล้วค่อยปีนกลับขึ้นเรือหรือว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง
•ที่สำคัญที่สุดคือ ปฏิบัติตามระเบียบและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

การเตรียมของใช้เดินป่า

เสื้อผ้า  ควรเป็นเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่แห้งง่ายและสวมใส่สบายเตรียมไว้
ประมาณ 3 ชุด  ชุดหนึ่งใส่ช่วงกลางวัน  ชุดหนึ่งใส่สำหรับก่อนนอน  และชุดสุดท้าย
สำหรับใส่เดินทางกลับ เสื้อกันหนาวหรือเสื้อกันฝนก็ควรเตรียมไปด้วยตามฤดูกาลและ
สภาพอากาศของพื้นที่นั้น

รองเท้า ควรใช้รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ  ไม่ควรมีพื้นแข็งหรืออ่อนจนเกินไปและมี
ขนาดพอเหมาะไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป และไม่มีน้ำหนักมากเกินไป  และควรสวมถุงเท้า
เพื่อป้องกันรองเท้ากัด

หมวก เพื่อใช้บังแดดและป้องกันหนามเกี่ยวศีรษะขณะเดินลอดกิ่งไม้

เป้สัมภาระ ควรมีขนาดเหมาะสมกับลำตัวของเจ้าของและจำนวนสัมภาระ  โดยปกติเป้
เมื่อใส่สัมภาระแล้วไม่ควรมีน้ำหนักเกินร้อนละ  20  ของน้ำหนักตัว  หากเป้มีน้ำหนักมาก
ควรใช้สายคาดเอวเพื่อถ่ายเทน้ำหนักส่วนหนึ่งจากที่บ่ามาให้ลำตัว  บริเวณส่วนเอวช่วยรับ
น้ำหนักด้วย

เต็นท์พักแรม
ควรใช้ขนาดและจำนวนที่เหมาะกับจำนวนคน เปลสนามก็เป็นอีกทางเลือก
หนึ่ง เพราะเบาและกะทัดรัด  แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือผ้าพลาสติกกางขึงเหนือเต็นท์ หรือ
เปลสนามเพื่อกันน้ำค้างและน้ำฝน


อุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ
ควรจัดอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัวไป เช่น ยาประจำตัว ถุงนอน ไฟฉาย
มีดเอนกประสงค์  กระติกน้ำ ชุดเครื่องครัวสนาม ถุงขยะ  ไฟแช็ก  เชือกร่มยาว  2-3 เมตร
จำนวน 2-3 เส้น

เสบียง ควรเตรียมไว้ประมาณให้เกิน 2 มื้อ เผื่อเกิดเหตุให้ต้องอยู่ป่านานกว่ากำหนด และ
ควรเผื่อเสบียงสำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่ช่วยนำทางไว้บ้าง

ข้อพึงปฏิบัติในการเดินป่า
•เดินเรื่อยๆไม่ต้องรีบและเดินด้วยความเร็วสม่ำเสมอ
•ควรเดินเรียงเดี่ยว ให้มองเห็นคนที่เดินอยู่ข้างหน้าเสมอ หากเดินนำจนมองไม่เห็นผู้ที่เดิน
 ตามหลัง  ตามมาจนอยู่ในระยะที่มองเห็นกันได้
•ไม่ควรส่งเสียงดัง  นอกจากเปลืองพลังงานแล้ว ยังลดทอนโอกาสพบสัตว์ป่าตามเส้นทาง
•ควรพัก 5-10 นาที ทุก 1-2 ชั่วโมง  แต่อย่าพักบ่อยเกิน  เพราะจะทำให้เหนื่อยยิ่งขึ้น
•ไม่ควรเดินออกนอกเส้นทาง และไม่ควรเดินป่าตามลำพัง
•เมื่อพบแหล่งน้ำที่สามารถดื่มได้ควรเติมน้ำให้เต็มกระติกเสมอ


ข้อมูลจาก
http://www.108holidays.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538727161

Service Mind

   
 การพัฒนาบุคลากรมีความจำเป็นต่อวิชาชีพการบริการ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของบุคคลหน่วยงานหรือ
องค์กร ดังนั้นการบริการที่ดีจะเกิดขึ้นจากตัวบุคคล โดยอาศัยทักษะ ประสบการณ์   เทคนิค ต่าง ๆ ที่จะทำให้

ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ  และอยากกลับเข้ามาใช้บริการอีก มีดังต่อไปนี้



·       ต้องมีจิตใจรักในงานด้านบริการ (Service Mind)  ผู้ให้บริการต้องมีความสมัครใจทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ มีความเสียสละ ผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ต้องมีใจรักและชอบในงานบริการ

              Service Mind  มีความหมายดังนี้

S  =  Smile                     ต้องมีรอยยิ้ม

E =  Enthusiasm           ความกระตือรือร้น เอาใจใส่ลูกค้า

R =  Responsiveness     มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่มีต่อลูกค้า

V =  Value                      ให้บริการลูกค้าอย่างมีคุณค่า

 I  =  Impression            ให้บริการอย่างประทับใจ

                     C = Courtesy                 บริการลูกค้าอย่างสุภาพอ่อนโยน

                     E =  Endurance             ความอดทนการเก็บอารมณ์                                           

                    M =  Make Believe         มีความเชื่อ

                    I   = Insist                        การยอมรับ

                    N = Necessitate               การให้ความสำคัญ

                    D =  Devote                     การอุทิศตน

                 

·       ต้องมีความรู้ในงานที่ให้บริการ (Knowledge)  ผู้ให้บริการต้องมีความรู้ในงานที่ตนรับผิดชอบ 

ที่สามารถตอบข้อซักถามจากผู้รับบริการได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ในเรื่องของสินค้าที่นำเสนอ

ประวัติองค์กร ระเบียบ นโยบายและวิธีการต่าง ๆ ในองค์กร        เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาด

              เสียหาย และ ต้องขวนขวายหาความรู้จาก เทคโนโยลีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

·       มีความช่างสังเกต (Observe)    ผู้ทำงานบริการจะต้องมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นคนมีความช่างสังเกต เพราะหากมีการรับรู้ว่าบริการอย่างไรจึงจะเป็นที่พอใจของผู้รับบริการก็จะพยายามนำมาคิดสร้างสรรค์  ให้เกิดบริการ ที่ดียิ่งขึ้น เกิดความพอใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือผู้รับบริการได้ มากยิ่งขึ้น

·       ต้องมีความกระตือรือร้น (Enthusiasm)  พฤติกรรมความกระตือรือร้น จะแสดงถึงความมีจิตใจในการต้อนรับ  ให้ช่วยเหลือแสดงความห่วงใย จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ในการช่วยเหลือผู้รับบริการ

·       ต้องมีกิริยาวาจาสุภาพ (Manner)   กิริยาวาจาเป็นสิ่งที่แสดงออกจากความคิด ความรู้สึก และส่งผล

ให้เกิดบุคลิกภาพที่ดี  ดังนั้นเพื่อให้ลูกค้าหรือผู้รับบริการมีความสบายใจที่จะติดต่อขอรับบริการ

·       ต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative) ผู้ให้บริการควรมีความคิดใหม่ ๆ ไม่ควรยึดติดกับ

ประสบการณ์หรือบริการที่ทำอยู่ เคยปฏิบัติมาอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้นไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการ

ให้บริการจึงควรมีความคิดใหม่ ๆ ในการปฏิรูปงานบริการได้ดี

·       ต้องสามารถควบคุมอารมณ์ได้ (Emotional control)  งานบริการเป็นงานที่ให้ความช่วยเหลือจากผู้อื่น ต้องพบปะผู้คนมากมายหลายชนชั้น  มีการศึกษาที่ต่างกัน ดังนั้นกิริยามารยาทจากผู้รับบริการจะแตกต่างกัน เมื่อผู้รับบริการไม่ได้ตั้งใจ อาจจะถูกตำหนิ พูดจาก้าวร้าว กิริยามารยาทไม่ดี ซึ่งผู้ให้บริการต้องสามารถควบคุมสติอารมณ์ได้เป็นอย่างดี

·       ต้องมีสติในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (Calmness)   ผู้รับบริการส่วนใหญ่จะติดต่อขอความช่วยเหลือตามปกติ แต่บางกรณีลูกค้าที่มีปัญหาเร่งด่วน ผู้ให้บริการจะต้องสามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุและคิดหาวิธีในการแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ อาจจะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดจากหลายทางเลือกในการให้บริการแก่ลูกค้า

·       มีทัศนคติต่องานบริการดี  (Attitude)  การบริการเป็นการช่วยเหลือ ผู้ทำงานบริการเป็นผู้ให้ จึงต้องมีความคิดความรู้สึกต่องานบริการในทางที่ชอบ และเต็มใจที่จะให้บริการ ถ้าผู้ใดมีความคิดความรู้สึกไม่ชอบงานบริการ แม้จะพอใจในการรับบริการจากผู้อื่น ก็ไม่อาจจะทำงานบริการให้เป็นผลดีได้  ถ้าบุคคลใดมีทัศนคติต่องานบริการดี ก็จะให้ความสำคัญต่องานบริการ และปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เป็นผลให้งานบริการมีคุณค่าและนำไปสู่ความเป็นเลิศ



·       มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าหรือผู้รับบริการ (Responsibility)   ในด้านงานทางการตลาด และการขาย และงานบริการ การปลูกฝังทัศนคติให้เห็นความสำคัญของลูกค้าหรือผู้รับบริการด้วยการยกย่องว่า ลูกค้าคือบุคคลที่สำคัญที่สุด   และ ลูกค้าเป็นฝ่ายถูกเสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้  ผู้ให้บริการมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าอย่างดีที่สุด

โดย ศิริพร วิษณุมหิมาชัย สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยพายัพ

ชวนเที่ยว Palio Khao yai

          วันหยุดนี้ไปไหนกันดี...! ขอทริปการเดินทางแบบสั้นๆ ถึงที่หมายใน 2-3 ชั่วโมง แต่ได้สูดโอโซนแบบเต็มๆ ปอด อาหารถูกปาก เดินลั๊นลาทอดน่อง อวดชุดเปรี้ยวจี๊ด ขาสั้นอินเทรนด์สะท้านลมหนาว ถ้าจะให้ดี...ต้องมีมุมจิบกาแฟให้นั่งพัก เม้าท์มอยแบบขำๆ เต็มพรืดด้วยร้านค้าเก๋ไก๋แนวฮิปๆ และมุมโพสต์ท่าแจ่มๆ  กลับมาอวดเพื่อนๆ ให้เกิดอาการอิจฉาตาวาว แต่ตอนนอนขอเปรี้ยว ไม่สน รีสอร์ท ขอนอนเต้นท์ดูลิงข่างบ่างชะนี ผจญภัยเล็กๆ กับการส่องสัตว์ยามค่ำคืน แบบนี้มีมั๊ย...?


แก๊งเพื่อนก๊วนเที่ยว ถึงกับต้องรีบยกหู กริ๊งกร๊าง ไปที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขอจองพื้นที่กางเต็นท์ทันที มีลุ้นนิดหน่อยถ้าที่ยังพอมีที่ให้กางเต็นท์ เห็นทีทริปนี้จะเพอร์ฟ็คท์ตามโจทย์ที่เพื่อนสาวให้มา...ไม่นานนักได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ว่า ยังไม่เต็มครับจองได้เลย...นี่คือจุดเริ่มของการเดินทางสู่เขาใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวระหว่างทาง ที่กำลังฮ็อตอินเทรนด์ “ปาลิโอ เขาใหญ่” ชื่อเก๋ไก๋ คอมมูนิตี้มอลล์ สไตล์อิตาลี ที่ตั้งอยู่บนถนนธนะรัชต์ บนหลักกิโลเมตรที่ 17 ติดกับโรงแรมจุลดิศ เขาใหญ่ รีสอร์ท แอนด์ สปา
จุดแวะพักอินเทรนด์แห่งนี้ กำลังเป็นที่โปรดปรานของบรรดาสาวๆ ด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยสะดุดตาแปลกกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เคยมีมา ออกแบบรูปทรงอาคารและพื้นที่บริเวณรอบๆ ให้เป็นวอล์คกิ้ง สตรีท คอมมูนิตี้ “ถนนคนเดิน” ร้านค้าขนาดกะทัดรัดที่เรียงรายเป็นระเบียบตามสไตล์ยุโรป ตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะ สินค้าแนวกิ๊บเก๋น่าซื้อไปซะทุกอย่าง มุมพักผ่อนนั่งเล่นเย็นๆ ใจ รายล้อมด้วยต้นไม้ ดอกไม้สีสด น้ำพุกลางลาน จิบกาแฟ ทอดสายตาดูผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาไม่ขาดระยะ จับกลุ่มโพสต์ท่า ออกแอ็คชั่นหลากหลายลีลา ถ่ายรูปมุมโน้น มุมนี้อย่างเพลิดเพลิน
ปาลิโอ แห่งนี้ยังส่งมอบความสุขให้กับสาวๆ หนุ่มๆ แบบเต็มอิ่ม ด้วยการดีไซน์ให้พื้นที่ทุกตารางเมตร เป็นที่ตั้งของร้านค้าขนาดเล็กๆ จำหน่ายสินค้านานาชนิด ตั้งแต่ของตกแต่งบ้านสไตล์คันทรี ที่เป็นสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้าน่ารักจากต่างประเทศ ร้านจำหน่ายภาพวาดจากฝีมือของจิตรกรผู้โด่งดัง ร้านจำหน่ายผ้าลูกไม้ ร้านจำหน่าย ผักสลัด ร้านไอศกรีม ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า และอีกมากมายก่ายกอง
ถึงตอนนี้อดใจไม่ไหวที่จะขอแนะนำ ร้านค้าสัก 2-3 ร้าน ที่เด่นสะดุดตาและเป็นแมกเน็ทของปาลิโอ ชื่อร้าน My Goodness ตกแต่งแบบโล่ง โปร่งสบาย ลูกค้าสามารถเดินชมสินค้าได้ทั้งจากทางหน้าร้านและหลังร้าน ภายในเต็มไปด้วยของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์แนวน่ารัก ทั้งจากในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ ของตกแต่งบ้านแนวกระจุกกระจิ๊ก ตั้งแต่เก้าอี้ตัวน้อย ป้ายติดผนังมีกระดิ่งแขวนนำเข้าจากต่างประเทศสไตล์ยุโรป โคมไฟสไตล์อาร์ทๆ กระถางต้นไม้มีดีไซน์ นาฬิกาแขวน และตั้งโต๊ะ ส่วนใหญ่เป็นงานดีไซน์ ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ทีชื่นชอบการแต่งบ้าน
ข้อมูลจาก http://www.peppermintfield.com/community/chill-out-field/lets-go

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism)

     การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism)

    บุญเลิศ   จิตตั้งวัฒนา   (2542)   ได้ให้ความหมายการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ว่าหมายถึงการท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็กที่มีการจัดการอย่างดีเยี่ยม เพราะสามารถดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรท่องเที่ยวให้มีความดึงดูดใจอย่างไม่เสื่อมคลาย และธุรกิจท่องเที่ยวมีการปรับปรุง คุณภาพให้ได้ผลกำไรอย่างเป็นธรรม โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนสม่ำเสมออย่างเพียงพอ แต่มีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดอย่างยืนยาว
          1.  ลักษณะการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
               การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มีลักษณะสำคัญอยู่ 6 ประการดังนี้ คือ
               1.1  เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทุกประเภท ทุกแห่ง
               1.2  เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแหล่งท่องเที่ยว
               1.3  เป็นการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม
               1.4  เป็นการท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรม
               1.5  เป็นการท่องเที่ยวที่ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวอย่างยืนยาว
               1.6  เป็นการท่องเที่ยวที่ให้ผลประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น และคืนผลประโยชน์กลับสู่ทรัพยากรท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น
          2.  หลักการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน 
               การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มีหลักการดังนี้ (อุษาวดี พูลพิพัฒน์, 2545)
               2.1  การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างพอดี (Using Resource Sustainable )ทั้งในส่วนที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญและเน้นการทำธุรกิจในระยะยาว
               2.2  การลดการบริโภคที่เกินความจำเป็นและการลดของเสีย (Reducing Over-consumption and Waste) จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายในระยะยาว และเป็นการเพิ่มคุณภาพของการท่องเที่ยวด้วย
               2.3  การรักษาและส่งเสริมความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ (Maintaining Diversity )สังคม และวัฒนธรรม จะช่วยขยายฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต
               2.4  การประสานการพัฒนาการท่องเที่ยว (Integrating Tourism into Planning) เข้ากับกรอบแผนกลยุทธ์การพัฒนาแห่งชาติ การพัฒนาท้องถิ่น และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะช่วยขยายศักยภาพการท่องเที่ยว
               2.5  การท่องเที่ยวที่รองรับกิจกรรมในท้องถิ่น(Supporting Local Economic)โดยคำนึงถึงราคาและพัฒนาคุณค่าของสิ่งแวดล้อมไว้ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการประหยัด แต่ยังป้องกันสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายอีกด้วย
               2.6 เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น( Involving Local Communities) ในด้านการจัดการผลตอบแทนของประชาชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและการจัดการการท่องเที่ยว
               2.7  การประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ประชาชนท้องถิ่น องค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง (Consulting Stakeholders and the Public) เพื่อลดข้อขัดแย้งและร่วมแก้ปัญหา
               2.8  เป็นการฝึกอบรมบุคลากร (Training Staff )โดยสอดแทรกแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการพัฒนาแบบยั่งยืนแก่บุคลากรท้องถิ่นทุกๆระดับ เพื่อยกระดับการบริการการท่องเที่ยว
               2.9  ข้อมูลข่าวสารที่สื่อให้กับนักท่องเที่ยว โดยมุ่งสร้างความเข้าใจในการเคารพต่อธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว (Marketing Tourism Responsibly) อีกทั้งเป็นการช่วยยกระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
               2.10 การวิจัยและติดตามผล (Undertaking Research)  เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการดำเนินงาน  รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่างๆ  เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
          3.  ลักษณะของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน 
               การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ (อุษาวดี พูลพิพัฒน์ผล, 2545)
               3.1 เป็นการท่องเที่ยวที่มีความต่อเนื่อง (Continuity) หมายถึง ความต่อเนื่องของทรัพยากรธรรมชาติ และความต่อเนื่องของวัฒนธรรมซึ่งจัดเป็นทรัพยากรหลักในการท่องเที่ยว และสามารถมอบประสบการณ์นันทนาการที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว
               3.2 เป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ (Quality) หมายถึงการเน้นคุณภาพของสามส่วนหลัก คือ คุณภาพของสิ่งแวดล้อม คุณภาพของประสบการณ์ นันทนาการที่นักท่องเที่ยวได้รับ และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
               3.3 เป็นการท่องเที่ยวที่มีความสมดุล (Balance) หมายถึงความสมดุลระหว่างความต้องการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและขีดความสามารถของทรัพยากร


บทความโดย : สาระดีดี.คอม

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
การท่องเที่ยวคืออะไร ?
การท่องเที่ยวมีความสำคัญอย่างไร? คือคำตอบของการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญที่หลากหลายมาก ดังนี้ (สุรเชษฎ์, 2546)

1. การท่องเที่ยวเป็นการใช้เวลาว่างของมนุษย์เพื่อแสวงหาความสุขและความเพลิดเพลิน จากแหล่งท่องเที่ยวที่ไปเยือนเป็นการช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและความเครียด ทำให้สุขภาพทางกายและจิตใจสดชื่นดีขึ้น พร้อมที่จะกลับไปเผชิญกับภารกิจต่างๆ และการดำรงชีวิตที่จำเจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. การท่องเที่ยวเปิดโอกาสให้มีการศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์ความแปลกใหม่ตลอดเวลาการเดินทาง ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตในด้านต่างๆ และเข้าใจสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวที่ไปเยือนดีขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มจิตสำนึกที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

3. หากการจัดการแหล่งท่องเที่ยวมีระบบที่ดี จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวและบริเวณโดยรอบได้ ซึ่งเรื่องนี้ในอดีตไม่ได้สนใจกันมากนัก จนกระทั่งกระแสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในระดับโลกได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นคุณค่าของการท่องเที่ยวต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามลำดับ

4. การท่องเที่ยวเป็นกลไกธรรมชาติที่ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่น เปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละฝ่ายดีขึ้น และนำไปสู่ความเข้าใจและมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน

5. การท่องเที่ยวก่อให้เกิดรายได้การไหลเวียนของเศรษฐกิจและการจ้างงานทั้งในระดับท้องถิ่นภูมิภาคและประเทศโดยรวม

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศคืออะไร

Ecotourism เป็นคำที่เกิดใหม่ในวงการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยนำคำ ๒ คำมารวมกัน ได้แก่ eco และ tourism คำว่า eco แปลตามรูปศัพท์ว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัย ส่วน tourism แปลว่า การท่องเที่ยว ecotourism จึงแปลว่า การท่องเที่ยวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย หมายความถึง การท่องเที่ยวที่เน้นในด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์
คำว่า นิเวศ ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย ก็แปลว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัยเช่นกัน (ดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ฉะนั้น การท่องเที่ยว เชิงนิเวศจึงเป็นศัพท์บัญญัติที่มีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษอย่างเหมาะสม

หลักการสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมี ๒ ประการ คือ ประการแรก ต้องเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และประการที่ ๒ ต้องเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

หลักการของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (sustainable tourism) มีหลักการที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) คือ จะต้องมีการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างพอดี เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในระยะเวลายาวนาน และมีการกระจายผลประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ รวมทั้งมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อนำหลักการนี้มาปรับใช้กับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงมีจุดเน้นที่สำคัญดังนี้

๑. จะต้องดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในระยะเวลา ยาวนานจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน มิใช่เพียงเพื่อคนรุ่นปัจจุบันเท่านั้น

๒. ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และลดปริมาณของเสียที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

๓. มีการกระจายรายได้และผลประโยชน์ให้แก่คนในท้องถิ่นที่มีแหล่งท่องเที่ยวตั้งอยู่ เปิดโอกาสให้ชุมชนในท้องถิ่นได้เข้าร่วมในการจัดการ และการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

๔. มีการประชุมปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว และชุมชนในท้องถิ่น เพื่อการวางแผนงาน การจัดสรรงบประมาณ และการจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม

๕. มีการสร้างเครือข่ายเพื่อเผยแพร่แนวคิด การศึกษาวิจัย และความรู้เกี่ยวกับการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ออกไปในหมู่ประชาชน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง

หลักการของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (conservation tourism) มีหลักการที่สำคัญคือ

๑. จะต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด ไม่ถูกทำลายไป

๒. กระตุ้นจิตสำนึกของคนในท้องถิ่นให้พยายามดูแลรักษาและปกป้องทรัพยากรการท่องเที่ยวเหล่านั้น โดยไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นผลเสียต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว เพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตน

๓. ให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว เพื่อตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวที่ตนเดินทางเข้าไปเยือน และให้ความร่วมมือแก่ชุมชนในท้องถิ่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันเป็นมรดกตกทอด ของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ให้คงสภาพที่ดีต่อไป นานๆ
นโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ให้ทำการศึกษาโครงการดำเนินการเพื่อกำหนดนโยบาย การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

นโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเสนอไว้ในรายงานมีดังนี้

๑. ต้องมีการควบคุม ดูแล รักษา และจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวให้คงสภาพ เดิมแท้ไว้ให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่อ่อนไหว ง่ายต่อการถูกกระทบ หรือฟื้นตัวได้ยาก

๒. ต้องคำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีอยู่ มีการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม และปรับให้เกิดความสมดุลกับรูปแบบและกิจกรรมที่มีอยู่แต่เดิม

๓. ต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านการให้การศึกษา สร้างจิตสำนึกที่ดีในการรักษาระบบนิเวศร่วมกัน มากกว่าการมุ่งเน้นความ เจริญทางด้านเศรษฐกิจ และการมีรายได้แต่เพียงอย่างเดียว

๔. ต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรในท้องถิ่น ในการจัดการทรัพยากร การบริการ การแลก-เปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมของชุมชนในกระบวนการท่องเที่ยว รวมทั้งการมีส่วนร่วม ในการวางแผนพัฒนา หรือการให้ประชาชน มีตัวแทนเป็นคณะกรรมการร่วมในทุกระดับ

๕. ให้องค์กรต่างๆกำหนดบทบาทที่ชัดเจนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร และกำหนดวิธีการจัดการที่เหมาะสม

๖. นำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเข้าสู่แผนพัฒนาระดับต่างๆอย่างมีความ สำคัญ ได้แก่ แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาภาค พร้อมทั้งให้มีการจัดสรรและกระจายงบประมาณอย่างทั่วถึง และเพียงพอ

๗. สนับสนุนการศึกษาวิจัย และประเมินผลการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการ การแก้ไขปัญหา และการปรับปรุงแผนอย่างเป็นขั้นตอน

๘. มีการใช้กฎหมายในการควบคุมดูแลและรักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด โดยเน้นการแนะนำ ตักเตือน และการสร้างวินัยการท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย

๙. จัดทำแนวทางปฏิบัติ หรือคู่มือการจัดการ ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อย่างถูกต้อง

๑๐. จัดให้มีเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งในทางแนวตั้งและแนวนอน โดยให้มีการประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารและ การจัดการร่วมกันในทุกระดับ

การจำแนกระบบนิเวศ

๑. ระบบนิเวศทางบก (land ecosystem) หมายถึง ระบบนิเวศที่ปรากฏอยู่บนพื้นแผ่นดิน ซึ่งเป็นภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบ หุบเขา ในบริเวณดังกล่าวถ้าหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยมนุษย์ไม่เข้าไปดัดแปลงหรือทำลาย ก็จะมีพืชพรรณธรรมชาติและสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ในประเทศไทย ระบบนิเวศทางบกที่ยังคงสภาพตามธรรมชาติ ดั้งเดิม ส่วนใหญ่พบอยู่ตามบริเวณป่าเขา ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ตามกฎหมาย เช่น อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า

๒. ระบบนิเวศทางทะเล (marine ecosystem) หมายถึง ระบบนิเวศที่ปรากฏอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล และในท้องทะเล ได้แก่ เกาะ สันดอนและสันทรายชายฝั่ง หาดปะการัง ปะการังใต้น้ำ ในประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศทางทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งทางด้านอ่าวไทยและทางด้านทะเลอันดามัน เป็นตัวอย่างของระบบนิเวศทางทะเลในเขตภูมิอากาศร้อน ซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และ ความงดงามตามธรรมชาติอยู่มาก เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

๓. ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland ecosystem) ระบบนี้ได้รับการกำหนดขึ้นใหม่ ต่างหากจากระบบนิเวศทางบกและระบบนิเวศ ทางทะเล คือ "ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวร และชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงที่ชายฝั่งทะเล และที่ในทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน ๖ เมตรในประเทศไทย พื้นที่ชุ่มน้ำประกอบด้วยป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ

รูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้มีการนำเสนอให้แก่นักท่องเที่ยวแล้วมีอะไรบ้าง

๑) การเดินเส้นทางธรรมชาติ เส้นทางธรรมชาติ (nature trail) หมายถึง เส้นทางที่กำหนดไว้ หรือแนะนำให้นักท่องเที่ยวเดินชมสภาพธรรมชาติของพื้นที่แห่งหนึ่งแห่งใด เช่น บริเวณป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าชายเลน ป่าพรุ ทั้งนี้เพื่อมิให้นักท่องเที่ยวหลงทางหรือเดินสะเปะสะปะไปเหยียบย่ำทำลายพืชพรรณไม้ หรือได้รับอันตราย

๒) การส่องสัตว์/ดูนก เป็นการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ป่าและนกชนิดต่างๆในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ของมัน โดยการมองจากกล้องส่องทางไกล การส่องไฟฉายในช่วงเวลากลางคืน และการ ถ่ายภาพ

๓) การสำรวจถ้ำ/น้ำตก เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่นิยมกันมาก เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาให้เดินทางเข้าถึงได้ไม่ยากนัก ถ้ำเป็นลักษณะภูมิประเทศที่พบมากในบริเวณภูเขาหินปูน หากเกิดตามบริเวณชายฝั่งทะเลเรียกว่า ถ้ำทะเล ภายในถ้ำมักมีหินงอกหินย้อยสวยงาม หากเป็นถ้ำขนาดใหญ่อาจมีความยาวหลายร้อยเมตร

๔) การปีนเขา/ไต่เขา เป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เคยชิน และเพิ่งจะเริ่มนำเข้ามาเผยแพร่โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ การปีนเขา/ไต่เขาต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

๕) การล่องแก่ง ลำน้ำบางสายที่มีแก่งหินพาดผ่านกลางลำน้ำ ทำให้น้ำไหลเชี่ยว มากเป็นพิเศษ หรืออาจมีโขดหินโผล่พ้นพื้นน้ำ กั้นขวางทางเป็นตอนๆ ลักษณะเช่นนี้ทำให้เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแบบผจญภัยที่เรียกว่า การล่องแก่ง (rapids shooting)                                                                       ๖) การนั่งเรือ/แพชมภูมิประเทศ เป็นการท่องเที่ยวแบบพักผ่อนสบายๆ ซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในประเทศไทยที่มีแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวได้ชมภูมิประเทศตามสองฝั่งลำน้ำ และสังเกตดูชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในท้องถิ่นนั้นๆ

๗) การพายเรือแคนู/เรือคะยัก เรือแคนู (canoe) และเรือคะยัก (kayak) เป็นรูปแบบของเรือพายที่นำมาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการท่องเที่ยวตามลำน้ำ เป็นเรือพายขนาดเล็ก นั่งได้ ๑ - ๓ คน ตัวเรือใช้วัสดุที่คงทนแต่มีน้ำหนักเบา ไม่ล่มได้ง่าย และพายได้คล่องตัว

๘) การขี่ม้า/นั่งช้าง การขี่ม้าหรือนั่งช้างเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่สร้างความ สนุกสนานตื่นเต้นให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้าไป ชมสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โดยเฉพาะ การนั่งช้าง ซึ่งเหมาะสำหรับการเข้าไปในบริเวณป่า อันเป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของ สัตว์ชนิดนี้

๙) การขี่รถจักรยานชมภูมิประเทศ การขี่รถจักรยานชมภูมิประเทศให้ทั้งความเพลิดเพลินในการชมภูมิประเทศสองข้างทาง และการออกกำลังกาย จึงเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีรถจักรยานที่ออกแบบให้ขับขี่ได้คล่องแคล่วและเบาแรง เหมาะสำหรับการเดินทางในระยะไกล และการเดินทางขึ้นลงตามลาดเขา เรียกชื่อรถจักรยานดังกล่าวว่า รถจักรยานเสือภูเขา

๑๐) การกางเต็นท์นอนพักแรม การกางเต็นท์นอนพักแรมเป็นกิจกรรมที่นิยมทำกันในบริเวณอุทยานแห่งชาติ หรือในสถานที่ซึ่งจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้โดยเฉพาะ เป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวซึ่งนักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

๑๑) การดำน้ำในทะเล การดำน้ำในทะเลเพื่อดูปะการัง พืชน้ำ และปลาสวยงามใต้น้ำ เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับความ นิยมอย่างมากในขณะนี้ แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ "การดำน้ำในน้ำตื้น" ใช้เครื่องมือช่วยการหายใจที่เรียกว่า ท่อหายใจ (snorkel) เพื่อให้ผู้ดำน้ำสามารถดำน้ำได้ในระดับผิวน้ำ ที่ลึกไม่เกินความยาวของท่อหายใจ และ"การดำน้ำในน้ำลึก" อาศัยเครื่องมือช่วยการหายใจเป็นถังออกซิเจนขนาดเล็กผูกติดไว้กับผู้ดำน้ำ เป็นวิธีการดำน้ำที่เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า scuba diving

แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ตามคำจำกัดความการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของราชบัณฑิตยสถาน แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะหมายรวมถึง แหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ทุกแห่งตั้งแต่แหล่งธรรมชาติ โบราณสถาน ไปจนถึงชุมชนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้แก่  อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี ไปจนถึงชุมชนต่างๆ ที่เปิดให้มีการท่องเที่ยวแต่ปัจจุบันเรื่องการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้มาเยือน ตามคำจำกัดความกระทำได้บ้างในระดับหนึ่ง คือยังไม่สมบูรณ์หรือได้มาตรฐานเพียงพอ

ลักษณะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

โดยลักษณะทั่วไปของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีดังนี้

1. เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่มีการอนุรักษ์ไว้ รวมถึงแหล่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมที่ปรากฏในพื้นที่ธรรมชาตินั้นๆ

2. มุ่งเน้นที่คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

3. เน้นให้ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติและวัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยว

4. ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเรียนรู้ หรือมีประสบการณ์โดยตรงกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ นอกจากจะได้รับความพึงพอใจแล้ว ยังเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม

5. เป็นการท่องเที่ยวที่คืนประโยชน์สู่ธรรมชาติและชุมชนท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม

6. เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

การท่องเที่ยวกับสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวมีหลากหลายลักษณะขึ้นอยู่กับประเภทของแหล่งท่องเที่ยว โดยทั่วไปประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ชีวภาพและทางสังคมหรือวัฒนธรรม รวมทั้งวิถีชีวิตของคนในสังคม สิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวและการดำรงชีวิตของคนที่อาศัยอยู่เพราะเป็นฐานของการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอันสำคัญยิ่ง
ดังนั้นการท่องเที่ยวกับสิ่งแวดล้อมจึงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เปรียบเสมือน "ป่ากับสัตว์ป่า" หรือ "ปลากับน้ำ" หากสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เช่น อากาศเป็นพิษ น้ำเสีย การจราจรแออัด ระบบนิเวศของป่าถูกทำลาย ชายหาดสกปรกหรือปะการังเสื่อมโทรม ฯลฯ การท่องเที่ยวก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นก็จะมีคุณภาพชีวิตด้อยลง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ จะขาดรายได้ และการจ้างงานจะลดน้อยถอยลง ซึ่งทั้งหมดเป็นผลเสียต่อสังคมโดยส่วนรวม

    ในอดีตที่ผ่านมา หลายประเทศในโลกเคยประสบปัญหาดังกล่าวมาแล้ว ประเทศไทยเองก็มีบทเรียนในเรื่องนี้ตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ซึ่งสาเหตุสำคัญเกือบทุกกรณีมักเกิดจากการพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการและสิ่งอำนวยความสะดวก ประเภทสิ่งปลูกสร้าง สร้างเกินขอบเขตหรือกำลังความสามารถที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ ขาดการแบ่งโซนที่ถูกต้องเหมาะสม คำนึงถึงปริมาณนักท่องเที่ยวมากกว่าคุณภาพ และขาดการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวและฐานทรัพยากร รวมไปถึงการไม่เคารพต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น โดยขาดการวางแผนและการจัดการที่ดี รายได้ซึ่งเกิดจากการท่องเที่ยวในแต่ละปี จึงไม่มากพอที่จะนำมาใช้ในการฟื้นฟูหรือบูรณะสิ่งแวดล้อมตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้
ผลกระทบจากการท่องเที่ยว

    โดยรวมผลกระทบจากการท่องเที่ยวคือ กระแสเงินตราและค่านิยมที่ผิดๆ จากการท่องเที่ยว ชุมชนจะต้องมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นฐานรากสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป็นเกราะป้องกันกระแสความยั่วยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ในรูปของเงินตราที่มากับการท่องเที่ยวเราเห็นตัวอย่างเรื่องการพัฒนาของประเทศมามาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในด้านใดก็ตาม ผลลัพธ์สุดท้ายในด้านลบมักจะตกอยู่กับชุมชนท้องถิ่น แต่ด้านบวกซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล กลับถึงมือชุมชนชนบท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศค่อนข้างจำกัด เพราะกระบวนการของการพัฒนาเหล่านั้น ให้ความสำคัญหรือน้ำหนักกับการเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมน้อยมาก และบางกรณีการมีส่วนร่วมที่เปิดให้ก็มักจะเป็นช่วงปลายของโครงการหรือใกล้จบโครงการแล้ว จนชุมชนไม่อาจจะเตรียมตัวเตรียมใจรับสถานการณ์ได้ทัน เพราะเนื่องมาจากขาดองค์ความรู้ ข้อมูล และทักษะ ที่พร้อมจะรับผลพวงอันเกิดจากการพัฒนาได้ แทนที่การพัฒนาจะเป็นประโยชน์ แต่กลับเป็นผลเสียแก่คนหมู่มากในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน


ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.environnet.in.th/

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

เชิญเที่ยวงานดอกไม้บาน ที่วังน้ำเขียว

วังน้ำเขียว-สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย จัดงานใหญ่กรุ่นไอหมอก

ไม้ดอกอลังการงานวังน้ำเขียว สวิสเมืองไทย (ไทยโพสต์)
          วังน้ำเขียว-สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย จัดงานใหญ่กรุ่นไอหมอก งานแสดงไม้ดอกสุดอลังการ เนรมิตเนินเขาไร่ข้าวโพด 69 ไร่เป็นดินแดนแห่งศิลปะดอกไม้ คาดดึงนักท่องเที่ยวได้ไม่ต่ำกว่า 7 แสนคน

          มีรายงานจากจังหวัดนครราชสีมาว่า สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย โดยนาย อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคม ร่วมกับสภากาชาดไทย พร้อมภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมที่จะจัดมหกรรมแสดงดอกไม้สุดยิ่งใหญ่ในรูปแบบงานศิลปะครั้งสำคัญของเมืองไทย ภายใต้ชื่องาน "วังน้ำเขียว ฟลอร่า แฟนตาเซีย-มหัศจรรย์งานศิลป์ดินแดนแห่งความสุข" ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2554 บนพื้นที่ 69 ไร่ ซึ่งเดิมทีเป็นไร่ข้าวโพด ตั้งอยู่บริเวณแยกวัดโพธิ์เฉลิมพระเกียรติ (ทางหลวงหมายเลข 3052 วังน้ำเขียว-เขาแผงม้า กิโลเมตรที่ 9) ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา โดยเนรมิตพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นทุ่งดอกไม้นานาพันธุ์นับหลายร้อยสาย พันธุ์จากทั่วทุกมุมโลก


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมนี้ การเตรียมงานดังกล่าวได้ลุล่วงไปแล้วกว่า 95% เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดอีกเพียงเล็กน้อย ซึ่งนายอนันต์ ดาโลดม กล่าวว่า ส่วนต่าง ๆ ที่จัดแสดงภายในงานนั้น เริ่มต้นด้วยการเนรมิตศิลปะกลางหุบเขาให้เป็นสวน จิตรกรรมธรรมชาติท่ามกลางขุนเขาและสายหมอก หรือเรียกได้ว่าเป็นทั้งศาสตร์ทั้งศิลป์อย่างกลมกลืนสุดยอดความสวยงามของมวล ดอกไม้หลากหลายบนเนื้อที่ 69 ไร่ ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่สวนจิตรกรรมธรรมชาติเทคนิค Vertical Garden ซึ่งทางสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยร่วมกับศิลปินชั้นนำจากประเทศไต้หวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสวนดอกไม้ Vertical Garden หรือการจัดสวนแบบแนวตั้ง ได้จำลองภาพอลังการดุจภาพวาดจากปลายพู่กันและถังสีขนาดยักษ์ ด้วยเขาวงกตดอกไม้กว่า 200,000 กระถาง ดอกไม้ปลูกและหว่านกว่าล้านเมล็ด จุดชมวิวและถ่ายภาพมุมสูงใช้งบประมาณกว่า 30 ล้านบาท มีพันธุ์ดอกไม้ที่ใช้ในงานรวมเกือบ 100 สายพันธุ์ มาจากทั่วทุกมุมโลก

          ผู้ที่จะเข้าชมเสียบัตรผ่านประตูในวันธรรมดาคนละ 100 บาท ส่วนวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ คนละ 200 บาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนร่วมสร้างอาคารภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 8 สภากาชาดไทย จังหวัดนครสวรรค์

          นายอนันต์กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้นอกจากจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในอำเภอวังน้ำเขียวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปีนี้ได้อย่างมากแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ได้หันมาปลูกไม้ดอกต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอาชีพใหม่และมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งนี้ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการจัดงานระหว่างวันที่ 20-28 ธ.ค. 2553 แล้ว สวนและผลงานต่าง ๆ จะยังคงอยู่บนพื้นที่แห่งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ชมไปจนถึง สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าอีกด้วย

          ขณะที่นายเสมอ จินดาพงษ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา คาดหมายว่า ตลอดระยะ เวลาที่มีการจัดงานน่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวชมงานนี้ไม่ต่ำกว่า 7 แสนคน ซึ่งจะทำให้อำเภอวังน้ำเขียวมีเงินสะพัดจากธุรกิจการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท โดยคิดจากรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีการใช้ จ่ายหัวละประมาณ 1,500 บาท




ขอขอบคุณข้อมูลจาก